การทำงานในที่อับอากาศ ผู้ที่จะสามารถทำงานได้ ต้องผ่านการอบรมอะไรบ้าง
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. 2562 ข้อ 20 กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยใน การทำงานในที่อับอากาศ แก่ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานในที่อับอากาศ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจในทักษะที่จำเป็นในการทำงานอย่างปลอดภัยตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายพร้อมทั้งวิธีการและขั้นตอนในการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์วิธีการและหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด
ซึ่งในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าหลักสูตรการฝึกอบรมในที่อับอากาศตามที่อธิบดีประกาศกำหนดมีอะไรบ้างและใครบ้างที่ต้องอบรมตามหลักสูตรดังกล่าว
พื้นที่อับอากาศเป็นพื้นที่ปิดล้อม และ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้มนุษย์อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง พื้นที่อับอากาศสามารถพบได้ในสถานที่ทำงานหลายประเภท รวมถึงสถานที่อุตสาหกรรม และงานก่อสร้าง การทำงานในพื้นที่จำกัดอาจเป็นอันตรายได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอาจมีทางเข้าและทางออกที่จำกัด ไม่มีการระบายอากาศ และอาจมีสารอันตรายหรือขาดออกซิเจน
มีมาตรการด้านความปลอดภัยหลายประการที่ควรดำเนินการเมื่อทำงานในพื้นที่จำกัด
- ตรวจสอบว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่อับอากาศหรือไม่
- ประเมินอันตรายในที่อับอากาศที่มีอยู่ในอากาศ รวมถึงการมีอยู่ของบรรยากาศที่เป็นอันตราย อันตรายทางกายภาพ และอันตรายอื่นๆ
- กำหนดขั้นตอนการเข้า-ออกพื้นที่
- จัดฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในที่อับอากาศ
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่เหมาะสมเมื่อทำงานในที่อับอากาศ
- มีแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน รวมถึงขั้นตอนการกู้ภัยและการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉิน
- ตรวจสอบพื้นที่เพื่อหาอันตรายอย่างสม่ำเสมอและบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย
- การปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยเหล่านี้จะช่วยให้คุณมั่นใจในความปลอดภัยของพนักงานเมื่อทำงานในพื้นที่จำกัด
ใครบ้างต้องอบรมความปลอดภัยใน การทำงานในที่อับอากาศ
ในการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ผู้ที่ต้องได้รับการฝึกอบรม ได้แก่
- ผู้อนุญาต
- ผู้ควบคุมงาน
- ผู้ช่วยเหลือ
- ผู้ปฏิบัติงาน
- ผู้เกี่ยวข้องกับงานในที่อับอากาศทุกคน
ซึ่งบุคคลตามที่กล่าวไปข้างต้น จำเป็นจะต้องได้รับการฝึกอบรมก่อนการฏิบัติงาน เพราะงานในที่อับอากาศเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงมาก หากผู้ปฏิบัติงานไม่มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน อาจทำให้เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานได้ และ
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
- มีใบรับรองแพทย์ว่าเป็นผู้มีสุขภาพสมบูรณ์ ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหัวใจ หรือโรคอื่นซึ่งแพทย์เห็นว่าการเข้าไปในที่อับอากาศอาจเป็นอันตรายต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม
งานในที่อับอากาศอาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องเจอกับอันตรายหลายประเภทและอันตรายบางอย่างไม่ได้มีอยู่ตั้งแต่แรกแต่เกิดขึ้นในระหว่างที่มีการปฏิบัติงานผู้ที่จะทำงานในที่อับอากาศจึงต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ปฏิบัติงานเอง
หลักสูตรฝึกอบรมการทำงานในที่อับอากาศ มีอะไรบ้าง
หลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ได้กำหนดหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ไว้ดังนี้
- หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมง โดยจัดฝึกอบรม 1 วัน ประกอบด้วยภาคทฤษฎี 5 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง
- หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ควบคุมงาน ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง โดยจัดฝึกอบรม 2 วันต่อเนื่อง ประกอบด้วยภาคทฤษฎี 9 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง
- หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ช่วยเหลือ ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง โดยจัดฝึกอบรม 3 วันต่อเนื่อง ประกอบด้วยภาคทฤษฎี 12 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง
- หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและ ภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง จัดฝึกอบรม 2 วันต่อเนื่อง ประกอบด้วยภาคทฤษฎี 9 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง
- หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง โดยจัดฝึกอบรม 4 วันต่อเนื่อง ประกอบด้วยภาคทฤษฎี 15 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 9 ชั่วโมง
- หลักสูตรการฝึกอบรมทบทวนความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรมเฉพาะภาคทฤษฎีไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อเนื่อง และจะต้องมีการฝึกอบรมทบทวนทุก 5 ปีนับจากวันที่มีการอบรมแต่ละหลักสูตรแล้ว โดยการฝึกอบรมทบทวนต้องฝึกอบรมให้เสร็จภายใน 30 วันก่อนครบ 5 ปี
ซึ่งแต่ละหลักสูตรได้กำหนดหัวข้อการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเอาไว้อย่างละเอียดโดยในการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องผ่านการฝึกอบรมดับเพลิงขั้นต้นตามกฎหมายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับอัคคีภัยมาแล้ว
และเมื่อมีการฝึกอบรมแล้ว นายจ้างต้องจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม วัน เวลาที่ฝึกอบรม พร้อมรายชื่อวิทยากรเก็บไว้ในสถานประกอบกิจการ พร้อมที่จะให้ตรวจสอบได้ และจะต้องทำรายงานผลการฝึกอบรมแจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการฝึกอบรม
และนอกจากการอบรมตามหลักสูตรที่กล่าวมาในกรณีที่มีการเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนสถานที่ทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิตร่างกายจิตใจหรือสุขภาพอนามัยต้องจัดอบรมภาคปฏิบัติให้กับผู้รับผิดชอบในการอนุญาตผู้ควบคุมงานผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศก่อนเริ่มการทำงาน
สรุป
การทำงานในที่อับอากาศ ผู้ที่สามารถทำได้ต้องผ่านการฝึกอบรมที่อับอากาศตามหลักสูตรที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในการฝึกอบรมนั้นนายจ้างสามารถจัดอบรมเองได้ หากมีวิทยากรที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ หรือใช้นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 11 เป็นผู้ฝึกอบรมได้