การทำงานกับสารเคมี ในสถานที่ทำงาน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ เนื่องจากสารเคมีแต่ละชนิดมีความเป็นอันตรายที่แตกต่างกัน หากผู้ใช้งานไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสารเคมีที่ตนทำงานอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ปฏิบัติงานได้ ซึ่งต่อไปนี้ คือสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี
-
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้
สิ่งแรก และ สิ่งที่สำคัญที่สุดของการการทำงานกับสารเคมีที่เป็นอันตราย และ คือการเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าคุณกำลังจัดการกับอะไรอยู่ การที่จะทำได้จะต้องมีเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet : SDS) สำหรับสารอันตรายแต่ละชนิดและทุกรายการที่มีอยู่ในสถานที่ทำงาน ซึ่งสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ทุกรายการที่เป็นสารอันตรายจะต้องมีเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี โดยสามารถขอได้จากผู้จำหน่ายที่ซื้อมา และเอกสารดังกล่าวต้องอัพเดทให้เป็นปัจจุบัน และเมื่อใดก็ตามที่เริ่มมีการนำสารเคมีชนิดใหม่เข้ามาใช้ในที่ทำงาน
จะต้องขอเอกสาร SDS มาด้วยทุกครั้ง ซึ่งในเอกสาร SDS จะมีข้อมูลเกี่ยวกับสารอันตรายชนิดนั้นๆ ทั้งหมด เพื่อให้ผู้ที่มีสารเคมีอยู่ในสถานที่ทำงานสามารถจัดการด้านความปลอดภัยได้อย่างถูกต้อง ซึ่งรวมถึงสิ่งต่างๆ เช่น การเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การจัดเตรียมสถานที่จัดเก็บ คุณสมบัติของสารเคมี ตลอดจนความเสี่ยงและอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน ผู้ใช้งานควรศึกษาเอกสารข้อมูลความปลอดภัยอย่างละเอียด เนื่องจากสารเคมีแต่ละชนิดจะมีระดับความเป็นอันตรายมากกว่าหนึ่งประเภท ซึ่งหมายความว่าสารอันตรายอาจเป็นพิษและติดไฟได้ เมื่อเราทราบเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารเคมีและอันตรายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายนั้น ทำให้สามารถ
- ออกแบบพื้นที่ทางกายภาพของสถานที่ทำงานเพื่อรองรับสารเคมีได้อย่างปลอดภัย
- ออกแบบขั้นตอนการปฏิบัติงานและวิธีการทำงานอย่างปลอดภัย
- จัดเก็บสารเคมีได้อย่างปลอดภัย ห่างจากสิ่งที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยา
- ติดฉลากสารเคมีได้อย่างถูกต้อง
- สามารถจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ได้อย่างเหมาะสม
และเมื่อทราบถึงความเสี่ยงและอันตรายของสารเคมีอันตรายอย่างครบถ้วนแล้ว อาจตัดสินใจเลือกใช้สารเคมีชนิดอื่นที่มีความเป็นอันตรายน้อยกว่าแทน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากกว่า และการใช้เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีควรใช้จากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายโดยตรง ไม่ควรใช้เอกสารข้อมูลความปลอดภัยจากแหล่งอื่นแทน
-
จัดเตรียม PPE ที่ถูกต้อง
เมื่อเข้าใจคุณสมบัติที่เป็นอันตรายของสารเคมีแล้ว สามารถเลือก PPE ที่จำเป็นได้ PPE เป็นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ป้องกันไม่ให้สารเคมีสัมผัสกับดวงตา ผิวหนัง ทางเดินหายใจ หรือแม้แต่ร่างกายของพนักงาน การกำหนดประเภทของ PPE ที่ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความปลอดภัยของพนักงานเมื่อทำงานหรือจัดการกับสารเคมีอันตราย เช่น สีและของเหลวไวไฟอื่นๆ โดยเอกสารข้อมูลความปลอดภัยจะระบุ PPE ที่จำเป็นสำหรับ
- สุขอนามัยส่วนบุคคล
- การป้องกันผิวหนัง
- การป้องกันดวงตา
- การป้องกันระบบทางเดินหายใจ
- การป้องกันความร้อน
นอกจากนี้ SDS ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดสำหรับฝักบัวฉุกเฉิน จุดล้างตาฉุกเฉิน หรืออุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่ต้องมีในที่ทำงาน
-
จัดเก็บสารเคมีอย่างปลอดภัย
สารเคมีหลายชนิดทำปฏิกิริยารุนแรงเมื่อสัมผัสกับสารอื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายจากสารเคมีรวมถึงไฟไหม้ระเบิด หรือกลุ่มก๊าซพิษ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับสารที่เข้ากันไม่ได้ ต้องแน่ใจว่าสารเคมีอันตรายที่ใช้ในสถานที่ทำงานได้รับการจัดเก็บอย่างปลอดภัยและสอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมาย โดยข้อกำหนดบางส่วนสำหรับสถานที่ทำงาน ได้แก่
- จัดเก็บสารเคมีให้ห่างจากพื้นที่เตรียมอาหารและพื้นที่บริการ
- เก็บรักษาสารเคมีให้ปลอดภัยเพื่อไม่ให้พนักงานหรือผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าถึงได้
- ติดฉลากสารเคมีแต่ละชนิดให้ชัดเจนด้วยป้ายและป้ายเตือนที่ถูกต้อง
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นที่จัดเก็บสารเคมีมีการระบายอากาศที่ดีและอยู่ห่างจากกิจกรรมการทำงานที่อาจก่อให้เกิดความร้อนหรือประกายไฟ
- ใช้ตู้นิรภัยเฉพาะ ซึ่งผลิตขึ้นตามมาตรฐานสำหรับจัดเก็บสารเคมีแต่ละประเภท
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสารเคมีที่จัดเก็บทั้งหมดสามารถเข้ากันได้
-
ฝึกอบรมพนักงานอย่างละเอียด
เมื่อมีการใช้สารเคมีอันตรายในสถานที่ทำงาน การจัดหา PPE และชุดป้องกันให้กับพนักงานยังไม่เพียงพอพนักงานทุกคนที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารเคมีต้องเข้าใจถึงความเสี่ยง อันตราย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยจะต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับสารเคมีที่มีการใช้งาน รวมถึงวิธีตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การระเบิด การหกรั่วไหล หรือไฟไหม้ พนักงานและผู้รับเหมาควรได้รับการแนะนำด้านความปลอดภัยอย่างละเอียด ก่อนที่จะเริ่มการทำงาน รวมทั้งต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่ควรอบรมให้กับผู้ที่ปฏิบัติงานกับสารเคมีได้แก่
- ความเสี่ยงและอันตรายของสารเคมีที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย
- การฝึกอบรมเหตุฉุกเฉินด้านอัคคีภัยและสารเคมี รวมถึงขั้นตอนการอพยพ
- การปฏิบัติตัวเมื่อสัมผัสสารเคมีโดยไม่ตั้งใจ
- วิธีการช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานที่สัมผัสสารเคมี
- วิธีการจัดการสารเคมีอย่างปลอดภัย (วิธีการจ่ายสารเคมี การทำความสะอาดพื้นที่จัดเก็บ การกำจัดภาชนะบรรจุ การต่อลงดิน และการบำรุงรักษาอุปกรณ์)
- วิธีการจัดเก็บสารเคมีอย่างถูกต้อง (ภาชนะที่ใช้ การติดฉลากและป้าย ผู้ที่อนุญาตให้เข้าสถานที่จัดเก็บสารเคมี งานที่ห้ามทำใกล้พื้นที่จัดเก็บสารเคมี)
สรุป
สารเคมีแต่ละชนิดมีความเป็นอันตรายที่แตกต่างกัน การศึกษาข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้สามารถจัดการด้านความปลอดภัยได้อย่างถูกต้อง นอกจากการจัดการด้านสถานที่แล้ว ความรู้ของผู้ปฏิบัติงานก็สำคัญเช่นกัน นายจ้างจำเป็นต้องฝึกอบรมเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับสารเคมีที่จัดเก็บหรือใช้งาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556
- ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565